National Socialist German Workers’ Party (Nationalsozialistische Deutsche Arbeiterpartei - NSDAP); Nazi Party

พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน, พรรคนาซี

​     ​​​​​พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าพรรคนาซี เป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาหัวรุนแรงที่ก่อตั้งขึ้นภายหลังเยอรมนีพ่ายแพ้ใน สงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* โดยมี อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler ค.ศ. ๑๘๘๙-๑๙๔๕)* เป็นผู้นำ เป็นพรรคการเมืองที่สืบทอดอุดมการณ์และแนวนโยบายจากพรรคแรงงานเยอรมัน (Deutsche Arbeiterpartei-German Workers’ Party - DAP)

ซึ่งถูกยุบลงใน ค.ศ. ๑๙๒๐ หลังเหตุการณ์กบฏโรงเบียร (Beer Hall Putsch)* ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๓ พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันซึ่งเป็นพรรคการเมืองท้องถิ่นในเมืองมิวนิก (Munich) รัฐบาวาเรีย (Bavaria)* ได้กลายเป็นพรรคการเมืองระดับชาติและเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นในเยอรมนีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๓-๑๙๒๕ พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันถูกยุบเลิกแต่ในกลาง ค.ศ. ๑๙๒๕ เมื่อฮิตเลอร์พ้นโทษจากคุก เขาได้ก่อตั้งพรรคขึ้นใหม่และเป็นสมาชิกพรรคหมายเลข ๑ ในปลายทศวรรษ ๑๙๒๐ ความไม่มีเสถียรภาพของสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* และปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมทำให้พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันมีบทบาทและอิทธิพลมากขึ้นจนสามารถคุมอำนาจทางการเมืองได้ใน ค.ศ. ๑๙๓๓ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๓-๑๙๔๕ พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่มีอำนาจเด็ดขาดในเยอรมนี แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ก็ถูกยุบและกลุ่มผู้นำพรรคคนสำคัญรวม ๒๔ คนถูกจับกุมด้วยข้อหาอาชญากรสงครามและก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีที่นูเรมเบิร์ก (Nuremberg Trials)*
     หลังจากที่เยอรมนีพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ และถูกประเทศมหาอำนาจบีบบังคับให้ลงนามใน สนธิสัญญาการสงบศึก (Armistice)* ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ กระแสการต่อต้านการยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรขยายตัวไปทั่วเยอรมนี เพราะเกิดข่าวลือที่เรียกว่า "ลอบแทงข้างหลัง" (stab in the back) แพร่สะพัดไปทั่วว่า เยอรมนีแพ้สงครามไม่ใช่เพราะกองทัพอ่อนแอแต่เป็นเพราะพวกสังคมนิยมและนักการเมืองในคณะรัฐบาลซึ่งยอมปฏิบัติตามข้อตกลงในสนธิสัญญาอย่างไม่มีเงื่อนไข ประชาชนจึงรู้สึกเหมือนถูกรัฐบาลลอบแทงข้างหลังให้ยอมรับความพ่ายแพ้ ข่าวลือดังกล่าวเชื่อกันว่าเป็นฝีมือของกองกำลังอิสระ (Free Corps)* ซึ่งเป็นกองกำลังพลเมืองติดอาวุธนอกเครื่องแบบเพื่อสั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชนในสาธารณรัฐไวมาร์ ในสภาวะการณ์ดังกล่าว สมาชิกของกลุ่มการเมืองที่เรียกชื่อว่าคณะกรรมาธิการอิสระเพื่อสันติภาพของแรงงานเยอรมัน (Free Committee for a German Worker’s Peace) ซึ่งก่อตั้งขึ้นที่เมืองเบรเมิน (Bremen) ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๘ ประกอบด้วย อันทอน เดรกซ์เลอร์ (Anton Drexler) กอทท์ฟรีด เฟเดอร์ (Gottfried Feder)* และดีทริช เอคคาร์ท (Dietrich Eckart)* จึงแยกมาจัดตั้งพรรคแรงงานเยอรมันขึ้นที่เมืองมิวนิกในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ นโยบายสำคัญของพรรคที่ประกาศในเวลาต่อมาคือการต่อต้านสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ซึ่งมีการลงนามเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๙ และเรียกร้องให้สร้างประเทศชาติใหม่เพื่อชาวเยอรมันเท่านั้น กองทัพ เยอรมันซึ่งหวาดระแวงแนวทางการเคลื่อนไหวที่รุนแรงของพรรคแรงงานเยอรมันจึงส่งสิบโทฮิตเลอร์ในวัย ๓๐ ปีไปร่วมกิจกรรมและการประชุมของพรรคเพื่อสอดแนม การดำเนินงาน ฮิตเลอร์ชื่นชอบหลักนโยบายชาตินิยมและแนวความคิดต่อต้านชาวยิว (Anti-Semitism)* ของพรรคแรงงานเยอรมันมากเพราะสอดคล้องกับความคิดของเขา แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการบริหารจัดการองค์การพรรคที่ขาดประสิทธิภาพ เขาจึงเสนอให้ปรับวิธีการดำเนินงานและใช้ความสามารถด้านวาทศิลป์โน้มน้าวสมาชิกพรรคให้คล้อยตามเขา
     ความเป็นนักพูดที่เก่งกาจของฮิตเลอร์ทำให้เขาได้รับการเชิญชวนให้เข้าเป็นสมาชิกพรรคซึ่งเขาปฏิเสธในขั้นแรก แต่ผู้บัญชาการกองทัพสนับสนุนเขาให้เป็นสมาชิก ฮิตเลอร์จึงเปลี่ยนใจและได้หมายเลขสมาชิก ๕๕ อย่างไรก็ตาม ในเวลาอันสั้นฮิตเลอร์ก็ได้ร่วมในคณะกรรมาธิการบริหารของพรรคซึ่งมีทั้งหมด ๗ คน และ เขาขอเปลี่ยนเลขประจำตัวสมาชิกใหม่เป็นหมายเลข ๗ เพื่อให้เห็นว่า เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคด้วยคนหนึ่งฮิตเลอร์ได้ชักจูงเพื่อนทหารในกองทัพเข้าเป็นสมาชิกด้วยหลายคนซึ่งรวมทั้งร้อยเอก แอนสท์ เริม (Ernst Röhm)* ซึ่งเป็นหัวหน้ากองกำลังอิสระ เริมมีบทบาทสำคัญในการชักจูงนายพลริทเทอร์ ฟอน เอพพ์ (Ritter von Epp) ซึ่งเคยเป็นผู้บังคับบัญชาเขาให้ใช้เงินงบลับของกองทัพสนับสนุนการจัดประชุมพรรคและกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการจัดทำ Völkischer Beobachter (People’ Observer) หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ของพรรคนอกจากนี้ ในการประชุมหาเงินทุนสนับสนุนพรรคแต่ละครั้ง ฮิตเลอร์มักจะเป็นองค์ปาฐกที่ดึงดูดผู้ฟังจำนวนมากและเขาสามารถโน้มน้าวจูงใจคนให้บริจาคเงินและเข้าเป็นสมาชิกได้หลายร้อยคน ต่อมาเขาจึงได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ของพรรค
     ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๐ พรรคแรงงานเยอรมันจัดพิมพ์นโยบายพรรคที่ เรียกว่า "หลักการ ๒๕ ข้อ" (Twenty-Five Points) เผยแพร่เป็นครั้งแรก สาระสำคัญคือการต่อต้านสนธิสัญญาแวร์ซายและยืนยันสิทธิของเยอรมนีในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศอื่น การเน้นอุดมการณ์ชาตินิยมที่จะสร้างเยอรมนีเพื่อชาวเยอรมันโดยประชาชนเชื้อสายเยอรมันเท่านั้นที่มีสิทธิเป็นพลเมืองเยอรมัน การเรียกร้องการขยายดินแดนทางตะวันออก (Lebensraum) การปฏิรูปที่ดินและยกเลิกการลงทุนค้ากำไรที่ดิน การยกเลิกเงินเดือนของทหารอาชีพในระบบเก่าเพื่อจัดตั้งกองทัพแห่งชาติขึ้นการยึดทรัพย์สินจากการค้ากำไรในสงครามและโอนธุรกิจอุตสาหกรรมใหญ่ที่ ทำกำไรเป็นของชาติ การให้สวัสดิการทางสังคมด้านต่าง ๆ เช่น เงินบำนาญยามชราและการศึกษาแบบให้เปล่า การให้เสรีภาพในการนับถือศาสนายกเว้นศาสนาที่เป็นภัยคุกคามชนชาติเยอรมัน การมีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็ง เพื่อให้การบริการงานด้านกฎหมายมีประสิทธิภาพและอื่น ๆ ในการประชุมเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์เพื่อประกาศหลักการ ๒๕ ข้อ ฮิตเลอร์สามารถจูงใจผู้ฟังร่วม ๒,๐๐๐ คน ให้เห็นด้วยกับนโยบายพรรคและผู้ฟังหลายร้อยคนขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก หลังการประชุมครั้งนี้ ฮิตเลอร์ได้ ลาออกจากกองทัพและทุ่มตัวทำงานให้กับพรรคแรงงานเยอรมันเต็มกำลัง ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๖ เขาก็ประกาศยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าหลักการ ๒๕ ข้อ คือนโยบาย พื้นฐานของพรรคนาซีในการสร้างจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* แต่ในทางปฏิบัติพรรคนาซีก็แทบจะไม่ได้ดำเนินการตามนโยบายที่ประกาศไว้เท่าใดนัก
     ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๒๐ ฮิตเลอร์เสนอให้เปลี่ยนชื่อพรรคแรงงานเยอรมันเป็นพรรคสังคมปฏิวัติ (Social Revolutionary Party) เพื่อโน้มน้าวฝ่ายนิยมการปฏิวัติให้เข้าเป็นสมาชิก แต่ที่ประชุมพรรคไม่เห็นด้วยและมีมติให้ยึดแนวทางของพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติในออสเตรียซึ่งเน้นการสร้างชาติเยอรมันโดยใช้ชื่อว่าพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าพรรคนาซี ต่อมา ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ ฮิตเลอร์ขัดแย้งกับเดรกซ์เลอร์ผู้ก่อตั้งพรรคคนหนึ่งเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงาน เขาจึงข่มขู่ที่จะลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคซึ่งมีผลให้เขาได้รับการสนับสนุนให้เป็นผู้นำพรรคแทนเดรกซ์เลอร์เพราะ แกนนำพรรคส่วนใหญ่ต่างตระหนักว่าความนิยมของพรรคอยู่ที่ฮิตเลอร์ การลาออกของเขาจะทำให้พรรคต้องสลายตัวลง ฮิตเลอร์ยอมที่จะอยู่ในพรรคต่อไปโดยมีเงื่อนไขว่าเขาต้องเป็นหัวหน้าพรรคและมีอำนาจเด็ดขาด สมาชิกพรรค ๕๔๓ คนยกเว้นเดรกซ์เลอร์ต่างสนับสนุนเขา ในเวลาอันสั้นฮิตเลอร์ก็สร้างชื่อให้ตนเองเป็นที่รู้จักในหมู่นักการเมืองและนักธุรกิจอุตสาหกรรมที่หวาดวิตกต่อการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายสังคมนิยม และนักการเมืองหัวรุนแรง ในช่วงเวลาดังกล่าวฮิตเลอร์มีโอกาสรู้จักนายพลเอริช ฟอน ลูเดนดอร์ฟ (Eric von Ludendorff)* อดีตวีรบุรุษสงคราม ลูเดนดอร์ฟสนับสนุนฮิตเลอร์เพราะคาดหวังว่าฮิตเลอร์จะช่วยให้เขากลับมามีบทบาทสำคัญในทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ในกลาง ค.ศ. ๑๙๒๑ ฮิตเลอร์ถูกจับขังรวม ๓ เดือนเนื่องจากเขามีส่วนร่วมทำร้ายนักการเมืองคู่แข่งจนบาดเจ็บสาหัส หลังจากพ้นโทษ ฮิตเลอร์เห็นความจำเป็นที่ต้องมีกองกำลังส่วนตัวขึ้น ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๑ จึงมีการจัดตั้งกองกำลังของพรรคขึ้นเพื่อเป็นหน่วยพิทักษ์ฮิตเลอร์และเพื่อทำหน้าที่รักษาความเป็นระเบียบในช่วงมีการจัดชุมนุมและการประชุมพรรค กองกำลังดังกล่าวซึ่งเรียกชื่อว่าหน่วยพายุหรือหน่วยเอสเอ (Storm Troopers; Sturmabteilung - SA)* ในเวลาต่อมามีส่วนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่พรรคนาซีด้วยการใช้กำลังข่มขู่คุกคามและการสร้างความหวาดกลัวรวมทั้งใช้ความรุนแรงทำร้ายผู้ที่ต่อต้านพรรคนาซีและพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม แอนสท์ เริมมีบทบาทสำคัญในการเกณฑ์ทหารปลดประจำการและสมาชิกกองกำลังอิสระจัดตั้งเป็นหน่วยเอสเอขึ้นโดยเขาเป็นหัวหน้า แต่ภายหลังเริมก็ขัดแย้งกับฮิตเลอร์และถูกกำจัดในเหตุการณ์ที่เรียกว่าคืนแห่งมีดยาว (Night of the Long Knives)* ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ ฮิตเลอร์จึงแต่งตั้งแฮร์มันน์ เกอริง (Hermann Goring)* อดีตนักบินกองทัพอากาศให้เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยเอสเอแทน
     นอกจากจัดตั้งกองกำลังของพรรคแล้ว ฮิตเลอร์ ให้มีเพลงประจำพรรคที่ชื่อว่า "Horst Wessel Lied"

และให้นำเครื่องหมายสวัสดิกะ (Swastika) ทางศาสนามาใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำพรรคและใช้ธงแดงที่มีเครื่องหมายสวัสดิกะสีดำอยู่กลางวงกลมสีขาวเป็นธงประจำพรรค สีดำ ขาว และแดงคือสีธงชาติเดิมของสมาพันธรัฐเยอรมันตอนเหนือ (North German Confederation)* ซึ่งออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* อัครมหาเสนาบดีปรัสเซียคิดขึ้นและต่อมาได้ใช้ธงดังกล่าวเป็นธงชาติของจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire ค.ศ. ๑๘๗๑-๑๙๑๘)* ด้วย ฮิตเลอร์ ให้คำอธิบายว่าสีแดงเป็นสีเลือดหมายถึงเชื้อชาติ (race) และพลังการเคลื่อนไหวที่ เป็นหนึ่งเดียวกันของความคิดทางสังคม สีขาวหมายถึงอุดมการณ์แห่งชาติ สีดำเป็นสีของดินหมายถึงดินแดนเฉพาะชาวเยอรมันเท่านั้น ซึ่งรวมถึงพันธกิจในการต่อสู้เพื่อชัยชนะของชาวอารยันรวมทั้งการสร้างสรรค์งานเพื่อชัยชนะในการกำจัดชาวยิวตลอดไปและชั่วนิรันดร นอกจากนี้ ฮิตเลอร์ยังให้นำนกอินทรีของจักรวรรดิโรมันมาใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของพรรค และให้บัญญัติคำขวัญของพรรคขึ้นเพื่อใช้ปลุกใจในการชุมนุมและเคลื่อนไหวต่าง ๆ คำขวัญที่ใช้เป็นประจำคือ "Ein Volk, ein Reich, ein Führer!" (One people, one nation, one leader!) "Deutschland erwache!" (Germany Awake!) และ "Die Juden sind unser Unglück!" (The Jews are Our Misfortune!) ต่อมาฮิตเลอร์ยังให้สมาชิกพรรคเรียกชื่อเขาในนามผู้นำพรรคนาซีว่าฟือเรอร์ (Führer)* และในการทักทายและทำความเคารพก็ให้กระตุกขาและยกมือขวาขึ้นสูงระดับเดียวกับศีรษะทั้งเหยียดนิ้วตรงเพื่อให้เห็นอุ้งมือพร้อมเปล่งเสียงว่า "ไฮล์ฮิตเลอร์" (Heil Hitler)
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๑-๑๙๒๓ พรรคนาซีประสบความสำเร็จในการเผยแพร่อุดมการณ์พรรคและขยายฐานอำนาจของพรรคออกไปอย่างกว้างขวางในรัฐบาวาเรีย หน่วยเอสเอมักใช้กำลังก่อกวนและทำร้ายพวกสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์อย่างเปิดเผยโดยรัฐบาลฝ่ายขวาของบาวาเรียให้การสนับสนุน ในต้น ค.ศ. ๑๙๒๓ เมื่อฝรั่งเศสและเบลเยียมส่งกำลังเข้ายึดครองแคว้นรูร์ (Ruhr) ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมโดยอ้างว่าเยอรมนีผิดสัญญาเรื่องการจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเพราะไม่ส่งถ่านหินให้แก่ฝรั่งเศสได้ครบตามข้อกำหนดในสนธิสัญญาแวร์ซาย กรรมกรในแคว้นรูร์ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากประธานาธิบดีฟรีดริช เอแบร์ท (Friedrich Ebert ค.ศ. ๑๘๗๑-๑๙๒๕)* ผู้นำพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือพรรคเอสดีพี (German Social Democratic Party - SPD)* จึงนัดหยุดงานต่อต้านฝรั่งเศสและเบลเยียมและรัฐบาลประกาศงดชำระค่าปฏิกรรมสงครามภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้จึงทรุดหนักลงอีก เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงและคนว่างงานตลอดจนการจลาจลทั่วไป พรรคนาซีจึงเห็นเป็นโอกาสที่จะโค่นอำนาจรัฐบาลที่กรุงเบอร์ลิน โดยหวังความร่วมมือจากกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาของบาวาเรีย ฮิตเลอร์นำกองกำลังของพรรคนาซียึดอำนาจที่เมืองมิวนิกซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่ากบฏโรงเบียร์หรือกบฏที่เมืองมิวนิก (Munich Putsch)* ระหว่างวันที่ ๘-๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๓ โดยคาดหวังว่าหากดำเนินการสำเร็จจะทำให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลที่ เบอร์ลินทั่วเยอรมนี แต่การยึดอำนาจประสบความล้มเหลว เพราะฝ่ายกลุ่มผู้นำของ บาวาเรียซึ่งในระยะแรกสนับสนุนฮิตเลอร์เปลี่ยนความตั้งใจที่จะร่วมมือกับพรรคนาซี ฮิตเลอร์และฝ่ายกบฏจึงถูกจับและถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีที่ศาลพิเศษซึ่งเป็นศาลประชาชน (People’s Court) ในกลาง ค.ศ. ๑๙๒๔
     แม้กบฏโรงเบียร์จะล้มเหลวเพราะเป็นการก่อกบฏที่วางแผนไม่รัดกุมแต่ก็ให้บทเรียนที่เป็นแนวทางในการยึดอำนาจทางการเมืองครั้งต่อไปแก่ฮิตเลอร์และพรรคนาซี ฮิตเลอร์ตระหนักว่าการยึดอำนาจจะประสบความสำเร็จได้ต้องร่วมมือกับกองทัพ ตำรวจ และกลุ่มการเมืองที่มีอำนาจรวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากมวลชนทั่วไป และการยึดอำนาจจะเป็นที่ยอมรับเมื่อเกิดขึ้นภายใต้กฎระเบียบของกฎหมาย ผลสำคัญของกบฏโรงเบียร์คือชื่อของฮิตเลอร์และพรรคนาซีเป็นที่รู้จักและยอมรับกันมากขึ้นทั่วเยอรมนี ฮิตเลอร์ถูกตัดสินจำคุก ๕ ปี ที่คุกเมืองลันด์สแบร์กอัมเลช (Landsberg am Lech) ทางตะวันตกของเมืองมิวนิกและถูกห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในที่สาธารณะจนถึง ค.ศ. ๑๙๒๗ พรรคนาซีและหน่วยเอสเอถูกยุบ อย่างไรก็ตาม ภายในเวลา ๙ เดือน ฮิตเลอร์ก็ได้รับอิสรภาพ ในช่วงที่ถูกคุมขังฮิตเลอร์ได้เขียนหนังสือชื่อไมน์คัมพฟ์ (Mein Kampf My Struggle)* ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นคัมภีร์ของลัทธินาซี (Nazism) ในเยอรมนีและเป็นคู่มือของการสร้างจักรวรรดิไรค์ที่ ๓
     ในช่วงที่ฮิตเลอร์ถูกจำคุก เขาแต่งตั้งให้อัลเฟรด โรเซนแบร์ก (Alfred Rosenberg)* แกนนำด้านอุดมการณ์ของพรรคทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรคโรเซนแบร์กจัดตั้งพรรคการเมืองที่เรียกว่าประชาคมของพลเมืองเยอรมันใหญ่ (Greater German People’s Community) ขึ้นเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองแทนพรรคนาซี แต่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้นำพรรคทำให้กลุ่มปีกซ้ายของพรรคแยกมาจัดตั้งพรรคเสรีภาพสังคมนิยมแห่งชาติ (National Socialist Freedom Party) ขึ้นที่เมืองบัมแบร์ก (Bamberg) ทั้ง ๒ พรรคยังถือว่าฮิตเลอร์เป็นผู้นำพรรคและต่างกล่าวโทษซึ่งกันและกันว่าอีกฝ่ายทรยศต่อฮิตเลอร์ ขณะเดียวกันเริมก็รวบรวมทหารที่ปลดประจำการ และอดีตสมาชิกหน่วยเอสเอจัดตั้งกองกำลังที่เรียกว่าฟรอนท์บันน (Frontbann) ขึ้นแทนหน่วยเอสเอและถือว่าเป็นกองกำลังอิสระที่ไม่ขึ้นต่อพรรค แต่ฟรอนท์บันน์ก็มีบทบาทไม่มากนักและถูกยุบลงในเวลาต่อมา ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพที่เกิดขึ้นทำให้ฮิตเลอร์ต้องหาทางแก้ไขและข่มขู่ว่าหากสมาชิกพรรคทั้ง ๒ ฝ่ายไม่ยอมรับคำชี้แนะของเขา เขาจะเลิกยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองทั้งห้ามนำชื่อเขาไปใช้อ้างในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง คำขู่ของฮิตเลอร์ได้ผลเพราะทำให้ทั้ง ๒ กลุ่มหันมาร่วมมือกัน อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้ฮิตเลอร์ได้ความคิดที่จะปรับโครงสร้างและระบบการทำงานของพรรคนาซีขึ้นใหม่เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
     เมื่อฮิตเลอร์พ้นโทษในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๔ เขาเร่งสร้างพรรคนาซีขึ้นใหม่อีกครั้งโดยรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ผู้นำและมีกลไกการบริหารที่มีประสิทธิภาพ เขาต้องการสร้างพรรคที่มีวินัยเหล็กซึ่งเคลื่อนไหวภายในกรอบของกฎหมายโดยพรรคจะมีลักษณะเป็นรัฐซ้อนรัฐและมีฐานอำนาจอยู่ที่มวลชน เขาขอจัดตั้งพรรคนาซีขึ้นอีกครั้งหนึ่งโดยให้สัญญากับผู้นำคนใหม่ของรัฐบาวาเรียว่าจะยึดมั่นกฎหมายและรัฐธรรมนูญทั้งจะไม่ใช้กำลังในการยึดอำนาจทางการเมืองในการชุมนุมจัดตั้งพรรคเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๕ ที่โรงเบียร์เบือร์เกอร์เบราเคลเลอร์ (Bürgerbraukeller) ซึ่งเคยเป็นสถานที่ที่ฮิตเลอร์ก่อกบฏเพื่อยึดอำนาจใน ค.ศ. ๑๙๒๓ ฮิตเลอร์ประกาศชัดเจนว่าเมื่อพ้นการทัณฑ์บน เขาจะดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำพรรคและก็ได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากผู้ร่วมชุมนุมกว่า ๔,๐๐๐ คน ทั้งได้เป็นสมาชิกหมายเลข ๑ อย่างไรก็ตามเขายังถูกห้ามกล่าวคำปราศรัยในที่สาธารณะในรัฐบาวาเรียและรัฐอื่น ๆ ทั่วเยอรมันจนถึง ค.ศ. ๑๙๒๗ ยกเว้นที่ทูรินเจีย (Thuringia) บรันสวิก (Brunswick) เวือร์ทเทมแบร์ก (Württemberg) และเมคเลนบูร์กช เวริน (Mecklenburg-Schwerin)

     ฮิตเลอร์วางแนวทางการดำเนินงานของพรรคนาซีไว้ ๒ ระดับ กล่าวคือ การเคลื่อนไหวบ่อนทำลายเสถียรภาพของรัฐบาลทุกรูปแบบเพื่อหาทางยึดอำนาจ ทางการเมืองตามวิถีทางรัฐสภา และการจัดตั้งคณะรัฐบาลเงาของพรรคเพื่อติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาลและรอคอยโอกาสที่จะขึ้นบริหารประเทศแทนรัฐบาลสาธารณรัฐไวมาร์ที่ถูกโค่นอำนาจพรรคนาซีได้วางโครงร่างการปกครองด้วยการแบ่งเยอรมนีออกเป็น ๓๔ เขต (Gaul-districts) โดยแต่ละเขตจะมีผู้นำที่ เรียกว่าข้าหลวงเขต (Gauleiters) ปกครองซึ่งมีอำนาจเต็มเหนือรัฐบาลท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ ในแต่ละเขตยังแบ่งการบริหารเป็นหลายหน่วย (Kreisecircles) ซึ่งแต่ละหน่วยจะมีผู้นำที่เรียกว่าผู้นำหน่วย (Kreisleiter) บริหาร หลายหน่วยของแต่ละเขตยังแบ่งเป็นกลุ่มท้องถิ่น (Ortsgruppen-local group) ต่าง ๆ และในเมืองใหญ่ กลุ่มท้องถิ่นจะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยเพื่อดูแลควบคุมตามอาคาร (Blocks) และถนน ต่อมาก็มี การแบ่งเขตเพิ่มในดินแดนที่มีประชากรเยอรมันอาศัยอยู่ด้วย เช่น ออสเตรีย และเมืองดานซิก (Danzig)* ในโปแลนด์ตอนเหนือรวมเป็น ๗ เขต ในการปรับองค์การพรรคและระบบบริหาร ฮิตเลอร์ยังสร้างเครือข่ายการบริหารโดยเลือกสมาชิกพรรคที่ จงรักภักดีและไว้วางใจให้ควบคุมการบริหารระดับสูงในเขตเมืองมิวนิกซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการของพรรคและในเขตรัฐทางตอนใต้ซึ่งพรรคนาซีได้รับความนิยมและมีฐานมวลชลที่เข้มแข็งสมาชิกพรรคที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้นำไรค (Reichleiter) ส่วนใหญ่เป็นแกนนำพรรคระดับอาวุโสที่ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มใกล้ชิด (inner circle) ของฮิตเลอร์ นอกจากนี้ เขายังจัดตั้งหน่วยเอสเอขึ้นใหม่และทำชุดเครื่องแบบใหม่ที่ประกอบด้วยเสื้อและกางเกงสีน้ำตาลรัดรูป รองเท้าบูตดำ แถบเครื่องหมายสวัสดิกะที่แขนรวมทั้งติดเหรียญสวัสดิกะและใส่หมวกแก็ปเพื่อให้มี ลักษณะโดดเด่นและเพื่อทำให้ชาวเยอรมันซึ่งนิยมชุดเครื่องแบบประทับใจและยอมรับ ขณะเดียวกันฮิตเลอร์ก็ติดต่อให้เริมซึ่งไปทำงานเป็นครูฝึกทหารในโบลิเวียกลับมาควบคุมหน่วยเอสเอและยังตั้งหน่วยรักษาความปลอดภัยประจำตัวที่เรียกว่าหน่วยเอสเอส (Schulzstaffeln - SS)* ขึ้นโดยสวมเครื่องแบบสีดำ ต่อมา เมื่อไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler)* รองหัวหน้าฝ่ายโฆษณาพรรคนาซีได้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายเอสเอส ในกลาง ค.ศ. ๑๙๒๙ หน่วยเอสเอสก็มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างอำนาจของพรรคนาซีและเป็นคู่แข่งของหน่วยเอสเอ
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๖-๑๙๒๙ พรรคนาซียังมีบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองไม่มากนักเพราะช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการปรับระบบองค์การพรรคเพื่อเตรียมโอกาสขยายบทบาทและอำนาจในสภาวะการณ์ที่เอื้ออำนวย ความช่วยเหลือของประเทศสัมพันธมิตรตาม แผนดอส์ (Dawes Plan)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๔-๑๙๒๙ เพื่อให้เยอรมนีแก้ไขภาวะเงินเฟ้อและฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมรวมทั้งสามารถชำระค่าปฏิกรรมสงครามได้ทำให้รัฐบาลเยอรมันซึ่งมีกุสตาฟ ชเตรเซมันน์ (Gustav Stresemann)* เป็นนายกรัฐมนตรีสามารถแก้ไขวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ได้สำเร็จ เยอรมนีจึงเริ่มเป็นที่ยอมรับในวงการเมืองระหว่างประเทศจนสามารถตกลงกับประเทศมหาอำนาจสัมพันธมิตรว่าด้วยปัญหาเส้นเขตแดนได้สำเร็จ ทั้งยังลงนามร่วมมือกับประเทศยุโรปตะวันตกอื่น ๆ ในสนธิสัญญาโลคาร์โน (Treaties of Locarno)* ใน ค.ศ. ๑๙๒๕ ตลอดจนได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสันนิบาติชาติ (League of Nations)* ใน ค.ศ. ๑๙๒๖ แม้เสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคงของรัฐบาลจะทำให้พรรคนาซีหมดโอกาสที่จะสร้างผลงานแต่ก็มีช่วงเวลาเตรียมการเพื่อสร้างอำนาจมากขึ้น ในช่วงการรอคอยโอกาส ฮิตเลอร์ได้รู้จักกับโยเซฟ เพาล์ เกิบเบิลส์ (Joseph Paul Goebbels)* ซึ่งเป็นนักเขียนและนักพูดในกลุ่มปีกซ้ายของพรรคนาซี เกิบเบิลส์ ชื่นชมฮิตเลอร์มากและช่วยฮิตเลอร์ต่อต้านเกรเกอร์ ชตราสเซอร์ (Gregor Strasser)* ผู้นำกลุ่มสังคมนิยมในพรรคนาซีซึ่งมักขัดแย้งกับฮิตเลอร์ ฮิตเลอร์จึงตอบแทนเกิบเบิลส์ด้วยการแต่งตั้งเขาเป็นข้าหลวงเขตประจำ นครเบอร์ลินเกิบเบิลส์ได้ทำให้องค์การพรรคนาซีในเบอร์ลินเข้มแข็งขึ้นและมีจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้นนอกจากนี้ เขายังมีส่วนผลักดันการเพิ่มและขยายสมาชิกในกลุ่มยุวชนฮิตเลอร์ (Hitler Youth)* และองค์การสันนิบาติยุวนารีเยอรมัน (League of German Girls) ด้วย ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ เมื่อเกิบเบิลส์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงภูมิปัญญาสาธารณชนและการโฆษณาประชาสัมพันธ์ (Ministry for Public Enlightenment and Propaganda) เขาประสบความสำเร็จอย่างมากในการสร้างอำนาจของพรรคนาซีให้แข็งแกร่งด้วยการโฆษณาปลุกระดมประชาชนผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และ ภาพยนตร์ ทั้งสร้างภาพลักษณ์หลากหลายของฮิตเลอร์ให้ประชาชนยอมรับว่าฮิตเลอร์คือผู้นำเพียงคนเดียวที่จะช่วยนำชาติเยอรมันไปสู่ความยิ่งใหญ่
     ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๗ ฮิตเลอร์พ้นโทษจากการถูกห้ามกล่าวคำปราศรัยในรัฐบาวาเรียและแซกโซนี พรรคนาซีได้จัดประชุมใหญ่ครั้งแรกที่เมืองนูเรมเบิร์กซึ่งต่อมากลายเป็นสถานที่จัดประชุมประจำปีของพรรค การประชุมใหญ่ครั้งนี้มีสมาชิกพรรคและมวลชนเข้าร่วมกว่า ๗๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งในจำนวนดังกล่าว เป็นหน่วยเอสเอ ๓๐,๐๐๐ คน และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการชุมนุมที่เมืองนูเรมเบิร์ก (Nuremberg rallies)* ซึ่งมีพิธีกรรมและการเดินพาเหรดและแปรขบวนเป็นรูปสวัสดิกะด้วยคบเพลิงที่ใหญ่โต ตระการตา ทั้งเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์พรรคที่มีประสิทธิภาพ หลังการชุมนุมใหญ่ครั้งนี้จำนวนสมาชิกพรรคนาซีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก ๒๕,๐๐๐ คนใน ค.ศ. ๑๙๒๕ เป็น ๑๐๐,๐๐๐ คนใน ค.ศ. ๑๙๒๘ เกือบ ๑๘๐,๐๐๐ คน ใน ค.ศ. ๑๙๓๐ และ ๘๕๐,๐๐๐ คนใน ค.ศ. ๑๙๓๒ สมาชิกร้อยละ ๕ เป็นชนชั้นกลาง และร้อยละ ๓๕ เป็นกรรมกร ส่วนที่เหลือเป็นชาวนาและชนชั้นสูง สมาชิกจำนวนไม่น้อยเป็นสตรีขณะเดียวกันระบบจัดตั้งข่ายงานพรรคที่มีข้าหลวงเขต ก็ขยายตัวไปทั่วเยอรมนี อย่างไรก็ตาม ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๕-๑๙๒๙ สมาชิกพรรคนาซีก็ได้รับเลือกเข้าสู่สภาไรค์ชตาก (Reichstag) ไม่มากนัก ในการเลือกตั้งทั่วไปในเมื่อวันที่ ๒๐ เดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๘ พรรคนาซีมีชัยชนะเพียง ๑๒ ที่นั่งในขณะที่พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันได้ ๑๕๓ ที่นั่ง และพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญได้ ๕๓ ที่นั่งทั้งยังคงเป็นพรรคที่นิยมของประชาชนทั่วไปด้วย พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกปีกซ้ายจึงมีโอกาสได้จัดตั้งรัฐบาลโดยมีแฮร์มันน์ มืลเลอร์ (Herrmann Muller) เป็นนายกรัฐมนตรีนับว่าเป็นการเปลี่ยนโฉมการเมืองของสาธารณรัฐไวมาร์ที่พรรคฝ่ายซ้ายได้มีโอกาสตั้งรัฐบาลขึ้นได้
     เมื่อเกิดความหายนะของตลาดหุ้นในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๙ ซึ่งนำไปสู่การเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)* ในยุโรปและทั่วโลก การล้มของตลาดหุ้นมีผลกระทบอย่างมากต่อเยอรมนีซึ่งเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา การเรียกคืนเงินกู้ของสหรัฐอเมริกา ทำให้เยอรมนีเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและไม่สามารถชำระหนี้สงครามได้จนต้องประกาศพักชำระหนี้ จำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเกิดภาวะเงินเฟ้อธุรกิจอุตสาหกรรมใหญ่และเล็กประสบภาวะล้มละลายทั้งราคาผลผลิตการเกษตรก็ตกต่ำเนื่องจากผลผลิตล้นตลาด ชนชั้นกลางและชนชั้นสูงที่ล้มละลายหรือขาดทุนย่อยยับต่างโยนความผิดให้รัฐบาลและสนธิสัญญาแวร์ซายและเริ่มหันมาสนับสนุนพรรคนาซี ปัญหาเศรษฐกิจส่งผลร้ายต่อการคลังของประเทศ เพราะรัฐบาลเก็บภาษีได้น้อยลงและต้องนำเงินภาษีไปจ่ายเลี้ยงดูคนว่างงานและการจัดหางานให้ประชาชน พรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมีความเห็นขัดแย้งกันเรื่องการใช้จ่ายเพื่อประกันสังคมจึงไม่อาจแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ และเป็นปัจจัยทำให้รัฐบาลผสมต้องลาออก ไฮน์ริช บรือนิง (Heinrich Bruning)* ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลผสมชุดใหม่เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๐ แต่ก็ล้มเหลวที่จะแก้ปัญหาการขาดดุลเศรษฐกิจได้และ ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินซึ่งทำให้ถูกโจมตีอย่างมากประธานาธิบดีเพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* จึงยุบสภาและจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่พรรคนาซีซึ่งเคยคาดการณ์ว่าเยอรมนีจะเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจเริ่มได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเพราะชาวเยอรมันที่ตกงานและสิ้นหวังหันมาสนับสนุนพรรคนาซีเพราะเชื่อมั่นว่าเมื่อคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจได้แม่นยำก็คงสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ พรรคนาซีได้หาเสียงโดยโจมตีนโยบายเศรษฐกิจที่ล้มเหลวและการเล่นพรรคเล่นพวกของคณะรัฐบาลชุดต่าง ๆ ทั้งชูนโยบายเน้นการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและโจมตีสนธิสัญญาแวร์ซาย
     ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๐ พรรคนาซีได้รับเลือกเข้าสู่สภามากที่สุดนับแต่ก่อตั้งพรรคโดยได้ ๑๐๗ ที่นั่ง นับเป็นอันดับ ๒ บรือนิงกลับเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และเขาพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วยมาตรการควบคุมราคาสินค้าและรัดเข็มขัดซึ่งแม้จะประสบผลสำเร็จบ้างแต่ประชาชนต่อต้านมาก เขาจึงถูกปลดออกจากตำแหน่งและในเดือนมิถุนายนประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กแต่งตั้งฟรันซ์ ฟอน พาเพิน (Franz von Papen)* เป็นนายกรัฐมนตรีพาเพินซึ่งมาจากกลุ่มอนุรักษนิยมพยายามร่วมมือกับพรรคนาซีเพื่อใช้พรรคนาซีโจมตีพรรคคอมมิวนิสต์และฝ่ายประชาธิปไตยแต่ล้มเหลว เขาจึงยุบสภาและประกาศเลือกตั้งใหม่รวมทั้งเลือกประธานาธิบดีซึ่งหมดวาระด้วย ฮิตเลอร์ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแข่งกับประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กซึ่งอายุ ๘๔ ปีและ เริ่มมีอาการหลงลืม แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะชาวเยอรมันส่วนใหญ่ยังหวาดระแวงเขา ฮินเดนบูร์กได้เสียงสนับสนุนร้อยละ ๔๙.๖ และฮิตเลอร์ได้ร้อยละ ๓๐ อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งสภาไรค์ชตากเดือน กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ พรรคนาซีก็ได้เสียงมากที่สุดของผู้มาออกเสียงเลือกตั้งร้อยละ ๓๘ หรือ ๒๓๐ ที่นั่งจาก ๖๐๘ ที่นั่ง ส่วนพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันซึ่งเคยคุมเสียงข้างมากในสภาไรค์ชตากมาโดยตลอดได้เพียง ๑๓๓ ที่นั่งเท่านั้นและพรรคคอมมิวนิสต์ได้ ๘๙ ที่นั่งฮินเดนบูร์กเชิญให้ฮิตเลอร์จัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับฟอน พาเพิน แต่เขาปฏิเสธและประกาศว่าจะยอมจัดตั้งรัฐบาลด้วยในกรณีที่เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้นฮินเดนบูร์กจึงแต่งตั้งเคิร์ท ฟอน ชไลเซอร์ (Kurt von Schleicher)* เป็นนายกรัฐมนตรีแทน ฟอน พาเพินแต่เขาก็ล้มเหลวในการบริหารประเทศเช่นกัน
     ใน ค.ศ. ๑๙๓๑ พรรคนาซีได้จัดตั้งหน่วยต่อต้านข่าวกรองหรือหน่วยความมั่นคงเอสเอส (Security Service - SS) ขึ้นเพื่อสอดแนมและรวบรวมข้อมูลของสมาชิกพรรคนาซีและฝ่ายตรงข้ามฮิตเลอร์โดยมี ไรน์ฮาร์ด ทรีชตาน ออยเกิน ไฮดริช (Reinhard Tristan Eugen Heydrich)* สมาชิกพรรคที่ฮิตเลอร์ไว้วางใจเป็นหัวหน้าหน่วยต่อต้านข่าวกรอง เขามีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างฐานอำนาจของพรรคนาซีและต่อมาปรับองค์การเป็นหน่วยเอสดี (SD - Sicherheitsdients Intelligence and Security Body)* ในกลาง ค.ศ. ๑๙๓๑ นายกรัฐมนตรีฟรันซ์ ฟอน พาเพินซึ่งโน้มเอียงสนับสนุนพรรคนาซีก็ยกเลิกคำสั่งห้ามการเคลื่อนไหวของหน่วยเอสเอ พรรคนาซีจึงใช้หน่วยเอสเอก่อกวนและทำร้ายฝ่ายตรงข้ามโดยเฉพาะพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันด้วยวิธีการรุนแรงมากขึ้น แนวทางรุนแรงดังกล่าวมีส่วน ทำให้คะแนนนิยมต่อพรรคนาซีลดต่ำลง ในการเลือกตั้งครั้งที่ ๒ เดือนพฤศจิกายน ค.ศ ๑๙๓๒ พรรคนาซีได้ที่นั่งลดลงเหลือ ๑๙๖ ที่นั่งเนื่องจากเกิดปัญหาความ แตกแยกภายในพรรค เกรเกอร์ ชตราสเซอร์แกนนำคนสำคัญที่ขัดแย้งกับฮิตเลอร์ได้ลาออกจากพรรคนาซีซึ่งทำให้พรรคสูญเสียคะแนนนิยมไปมาก ในขณะที่พรรค คอมมิวนิสต์ได้เสียงเพิ่มขึ้นจาก ๘๙ ที่นั่งในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ เป็น ๑๐๐ ที่นั่ง ฮิตเลอร์จึงปลุกระดมว่าเยอรมนีกำลังก้าวสู่การปฏิวัติบอลเชวิค (Bolshevik Revolution) และมีเพียงพรรคนาซีเท่านั้นที่สามารถต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าวการปลุกระดมของฮิตเลอร์ทำให้กลุ่มนักธุรกิจอุตสาหกรรมซึ่งหวาดกลัวการปฏิวัติบีบให้ประธานาธิบดีฟอนฮินเดนบูร์กแต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรี ฟอน พาเพินก็ให้ความเชื่อมั่นแก่ฮินเดนบูร์กว่ารัฐบาลผสมที่ พรรคเซนเตอร์ (Centre Party)* เป็นแกนนำจะควบคุมการบริหารของฮิตเลอร์ได้ ฮิตเลอร์ในวัย ๔๓ ปีจึงยอมรับข้อเสนอที่จะตั้งรัฐบาลร่วมกับฟอน พาเพินโดยเขา ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓
     การก้าวสู่อำนาจทางการเมืองของฮิตเลอร์ในต้น ค.ศ. ๑๙๓๓ เปิดโอกาสให้พรรคนาซีมีบทบาทมากขึ้น และจำนวนสมาชิกมีถึง ๒.๕ ล้านคน เมื่อเกิดเหตุการณ์เผาสภาไรค์ชตาก (Reichstag Fire)* ในคืนวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ซึ่งฝ่ายคอมมิวนิสต์ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลัง พรรคนาซีได้ใช้ในเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นข้ออ้างโน้มน้าวประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กซึ่งหวาดกลัวการลุกฮือของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันให้ยอมลงนามในกฤษฎีกาฉุกเฉิน (Emergency Decree)* ให้อำนาจแก่ รัฐบาลในการสร้างความเป็นระเบียบและความสงบทางสังคม และออกกฤษฎีกาการวางเพลิงสภาไรค์ชตาก (Reichstag Fire Decree) ยกเลิกสิทธิเสรีภาพเกือบทั้งหมดที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๙๑๙ ฮิตเลอร์จึงใช้อำนาจจากกฤษฎีกาฉุกเฉินกำจัดพวกคอมมิวนิสต์และกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามและอ้างปัญหาความขัดแย้งในรัฐบาลผสมกำหนดการเลือกตั้งสภาไรค์ชตากขึ้นในวันที่ ๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ ผลการเลือกตั้งซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายของสภาไรค์ชตากปรากฏว่าพรรคนาซีได้เสียงสนับสนุนจากร้อยละ ๓๓ ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ เป็นร้อยละ ๔๔ โดยมีที่นั่งในสภา ๒๘๘ ที่นั่งจากจำนวน ๖๔๗ ที่นั่ง และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลในปลายเดือนมีนาคมฮิตเลอร์เสนอร่าง บทกฎหมายที่ให้อำนาจ (Enabling Act)* ให้สภาไรค์ชตากพิจารณาโดยอ้างว่ารัฐบาลต้องการมีอำนาจเต็ม ๔ ปี เพื่อให้สามารถกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อบริหารได้อย่างราบรื่นและมั่นคงรัฐบาลสัญญาว่าจะไม่ละเมิดอำนาจหน้าที่ของสภา ไรค์ชตาก สภาไรค์ซรัท (Reichsrat) หรือสภาสูงประธานาธิบดีและสิทธิของแต่ละรัฐ พรรคนาซีสามารถโน้มน้าวและบังคับสมาชิกสภาไรค์ชตากจำนวน ๔๔๑ คนหรือประมาณ ๒ ใน ๓ ของจำนวนสมาชิกสภาไรค์ชตากทั้งหมดให้สนับสนุนร่างบทกฎหมายที่ ให้ อำนาจได้สำเร็จในวันที่ ๒๓ มีนาคม แต่มีเพียงสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน ๘๔ คนเท่านั้นที่คัดค้าน บทกฎหมายที่ให้อำนาจจึงทำให้ฮิตเลอร์และพรรคนาซีสามารถสถาปนาอำนาจเผด็จการขึ้นปกครองเยอรมนีได้เพราะฮิตเลอร์สามารถออกฎหมายแทนสภาไรค์ชตากและมีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งต่ออายุการทำงานของรัฐบาลเมื่อครบวาระได้และอื่นๆ
     ทันทีที่มีอำนาจเผด็จการฮิตเลอร์ก็ออกกฎหมายสร้างเอกภาพของรัฐ (Unification Law) ฉบับแรกในปลายเดือนมีนาคมควบคุมสภาไรค์ชตากและรัฐบาล เยอรมันให้อยู่ใต้อำนาจพรรคนาซี ต่อมาในวันที่ ๕ กรกฎาคมก็ออกกฤษฎีกายุบพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันซึ่งเคยคัดค้านพรรคนาซีในการผลักดันร่างบทกฎหมายที่ ให้อำนาจและในเดือนเดียวกันก็ยุบพรรคการเมืองอื่น ๆ ทั้งหมดยกเว้นพรรคนาซี อีก ๑ เดือนต่อมาก็ประกาศใช้กฎหมายห้ามจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่และให้พรรคนาซีเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวในเยอรมนีเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ และขณะเดียวกันก็ประกาศแนวทางการสร้างเยอรมนีด้วยการใช้กระบวนการบริหารที่ เรียกว่า ไกลค์ชาลทุง (Gleichschaltung - Co-ordination)* ซึ่งหมายถึงการสร้างเอกภาพในการปกครองโดยประสานการดำเนินงานระหว่างส่วนกลางกับองค์การและสถาบันต่าง ๆ ในส่วนท้องถิ่นและภูมิภาคตลอดจนเน้นความร่วมมือของชาวเยอรมันทั้งหมดเพื่อเจตจำนงทางการเมืองเดียวกันในการสร้างความยิ่งใหญ่ของชาติและความเป็นอันเดียวกันของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ รวมทั้งการกำจัดฝ่ายการเมืองตรงข้ามทั้งหมด ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๓ ฮิตเลอร์ประกาศให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่และพรรคนาซีซึ่งได้คะแนนเสียงถึงร้อยละ ๙๒ จึงกุมเสียงข้างมากในสภาไรค์ชตากได้ในที่สุด
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๔-๑๙๓๗ พรรคนาซีได้เริ่มออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อรวมพรรคนาซีและรัฐบาลเยอรมันเข้าด้วยกัน และขณะเดียวกันก็ผลักดันการออกกฎหมายต่าง ๆ เพื่อสร้างรัฐชาติอารยันที่บริสุทธิ์เป็นต้นว่ากฎหมายนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Laws ค.ศ. ๑๙๓๕)* ขั้นตอนสุดท้ายของการรวมพรรคนาซีกับรัฐบาลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเกิดขึ้นเมื่อประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ ๒ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ ก่อนวาระสุดท้ายของประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กเพียง ๓ ชั่วโมง รัฐบาลนาซีได้ออกกฎหมายรวมสำนักงานประธานาธิบดีเข้ากับสำนักงานนายกรัฐมนตรีด้วยกัน ฮิตเลอร์จึงดำรงตำแหน่งฟือเรอร์และผู้นำเยอรมนี (Reichkanzler of Germany) โดยเป็นประมุขของประเทศ ผู้นำรัฐบาลและผู้นำพรรคที่มีสำนักงานเดียวกัน ในกลางทศวรรษ ๑๙๓๐ ฮิตเลอร์ก็แต่งตั้งสมาชิกพรรคนาซีเข้าดำรงตำแหน่งหน้าที่การงาน ต่าง ๆ ของรัฐบาล ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ มีการรวมหน่วยตำรวจลับหรือเกสตาโป (Gestapo)* เข้ากับหน่วยตำรวจอาชญากรรมหรือคริโป (Criminal Police-Kripo) โดยเรียกชื่อว่าตำรวจเพื่อความมั่นคงหรือซิโป (Security Police-Sipo) แต่คนทั่วไปก็ยังนิยมเรียกชื่อเดิมว่าเกสตาโป เกสตาโปซึ่งมีเครือข่ายทั่วเยอรมนีและมีการดำเนินงานที่เป็นอิสระรวมทั้งหน่วยเอสเอสได้ทำให้เยอรมนีกลายเป็นรัฐตำรวจและอำนาจเผด็จการของพรรคนาซีก็เข้มแข็งและน่าสะพรึงกลัวมากขึ้น ธงสวัสดิกะของพรรคนาซีได้กลายเป็นธงชาติของเยอรมนีและกองทัพทุกหมู่เหล่าต้องกล่าวปฏิญาณตนจงรักภักดีต่อฮิตเลอร์ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๓-๑๙๔๕ จึงเป็นช่วงสมัยที่พรรคนาซีมีอำนาจเด็ดขาดและมีชื่อเรียกกันทั่วไปว่าจักรวรรดิไรค์ที่ ๓
     อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาเมื่อเยอรมนีพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ และฮิตเลอร์ผู้นำพรรคนาซีกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการยิงตัวเองเมื่อวันจันทร์ที่ ๓๐ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕ ขณะอายุ ๕๖ ปี จอมพลเรือคาร์ล เดอนิทซ์ (Karl Doenitz)* ผู้นำคนใหม่ของเยอรมนีจึงประกาศยอมแพ้สงครามโดยปราศจากเงื่อนไขเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ซึ่งมีผลให้สงครามในยุโรปสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในวันที่ ๘ พฤษภาคม จักรวรรดิไรค์ที่ ๓ จึงล่มสลาย ฝ่ายมหาอำนาจพันธมิตรและรัฐบาลเฉพาะกาลทั้งในเยอรมนีและออสเตรียจึงประกาศว่าพรรคนาซีซึ่งมีสมาชิกรวม ๘.๕ ล้านคนเป็นองค์การที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและให้ยุบลงผู้นำพรรคนาซีคนสำคัญรวม ๒๔ คนถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรสงครามและก่ออาชญากรรมต่อสันติภาพและต่อมนุษยชาติและถูกนำตัวขึ้นสู่การพิจารณาคดีที่นูเรมเบิร์ก ลัทธินาซีซึ่งเป็นขบวนการมวลชนที่สำคัญของเยอรมนีก็สูญสลายพร้อมกับพรรคนาซี.



คำตั้ง
National Socialist German Workers’ Party (Nationalsozialistische Deutsche Arbeiterpartei - NSDAP); Nazi Party
คำเทียบ
พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน, พรรคนาซี
คำสำคัญ
- หน่วยตำรวจลับหรือเกสตาโป
- เดอนิทซ์, คาร์ล
- ซิโป
- กฎหมายสร้างเอกภาพของรัฐ
- ไกลค์ชาลทุง
- เหตุการณ์เผาสภาไรค์ชตาก
- กฎหมายนูเรมเบิร์ก
- ไฮดริช, ไรน์ฮาร์ด ทรีชตาน ออยเกิน
- หน่วยเอสดี
- หน่วยต่อต้านข่าวกรอง
- หน่วยความมั่นคงเอสเอส
- สภาไรค์ซรัท
- พรรคเซนเตอร์
- กฤษฎีกาฉุกเฉิน
- กฤษฎีกาการวางเพลิงสภาไรค์ชตาก
- การปฏิวัติบอลเชวิค
- บทกฎหมายที่ให้อำนาจ
- มืลเลอร์, แฮร์มันน์
- บาวาเรีย, รัฐ
- ฮินเดนบูร์ก, เพาล์ ฟอน
- พรรคนาซี
- พรรคแรงงานเยอรมัน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สาธารณรัฐไวมาร์
- กบฏโรงเบียร์
- กองกำลังอิสระ
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก
- คณะกรรมาธิการอิสระเพื่อสันติภาพของแรงงานเยอรมัน
- เดรกซ์เลอร์, อันทอน
- เฟเดอร์, กอทท์ฟรีด
- แนวความคิดต่อต้านชาวยิว
- เริม, แอนสท์
- สนธิสัญญาการสงบศึก
- หลักการ ๒๕ ข้อ
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- เกอริง, แฮร์มันน์
- คืนแห่งมีดยาว
- การขยายดินแดนไปทางตะวันออก
- เอคคาร์ท, ดีทริช
- เอพพ์, ริทเทอร์ ฟอน
- ไรค์ที่ ๓, จักรวรรดิ
- พรรคสังคมปฏิวัติ
- หน่วยพายุหรือหน่วยเอสเอ
- ลูเดนดอร์ฟ, เอริช ฟอน
- บิสมาร์ค, ออทโท ฟอน
- กบฏที่เมืองมิวนิก
- ฟือเรอร์
- เยอรมันเหนือ, สมาพันธรัฐ
- ศาลประชาชน
- เยอรมัน, จักรวรรดิ
- รูร์, แคว้น
- บัมแบร์ก, เมือง
- เบือร์เกอร์เบราเคลเลอร์, โรงเบียร์
- ไมน์คัมพฟ์
- ประชาคมของพลเมืองเยอรมันใหญ่
- โรเซนแบร์ก, อัลเฟรด
- เอแบร์ท, ฟรีดริช
- พรรคเสรีภาพสังคมนิยมแห่งชาติ
- หน่วยเอสเอส
- ลันด์สแบร์กอัมเลช, เมือง
- ดานซิก, เมือง
- ฮิมม์เลอร์, ไฮน์ริช
- กลุ่มยุวชนฮิตเลอร์
- ชตราสเซอร์, เกรกอร์
- การชุมนุมที่เมืองนูเรมเบิร์ก
- เกิบเบิลส์, โยเซฟ เพาล์
- แผนดอส์
- สนธิสัญญาโลคาร์โน
- ชเตรเซมันน์, กุสทาฟ
- สภาไรค์ชตาก
- บรือนิง, ไฮน์ริช
- องค์การสันนิบาตชาติ
- องค์การสันนิบาติยุวนารีเยอรมัน
- ชไลเชอร์, คูร์ท ฟอน
- พาเพิน, ฟรันซ์ ฟอน
- ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
- หน่วยตำรวจอาชญากรรมหรือคริโป
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 6.N 577-752.pdf